08
พฤศจิกายน
2017
|
05:48
Europe/Amsterdam

ผลสำรวจจาก Booking.com เผยว่าความอคติทางเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในแวดวงไอทีและวิศวกรรม

แม้ผู้หญิงส่วนมากที่ร่วมตอบแบบสอบถามจะเห็นว่าการทำงานในวงการเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจนั้นน่าสนใจมาก แต่กว่าร้อยละ 42 เห็นว่าความอคติทางเพศในวงการนี้รุนแรงกว่าที่คาดไว้เสียอีก

Booking.com หนึ่งในบริษัท E-commerce ด้านการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดในโลกและผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิตอลเผยผลสำรวจจากการศึกษาข้อมูลทั่วโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองของผู้หญิงที่ในแวดวงเทคโนโลยีแต่ไม่ได้ทำงานในสายงานเทคโนโลยีโดยตรง ข้อมูลจากผลการสำรวจพบว่าถึงแม้ผู้หญิงส่วนมากจะคิดว่าการทำงานในแวดวงเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก แต่อคติทางเพศในวงการนี้ก็มีอยู่จริง และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหมู่ผู้หญิงที่ทำงานด้านไอทีและวิศวกรรมเท่านั้น

ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจทุกภาคส่วน แผนกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนกทรัพยากรบุคคล การเงิน การตลาด และลูกค้าสัมพันธ์ต่างก็ต้องการความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกควบคู่ไปกับความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ และทักษะในด้านอื่นๆ แบบสำรวจนี้มุ่งศึกษาสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อหาคำอธิบายแก่มายาคติ มุมมอง และอคติที่ทำให้ผู้หญิงสนใจทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในตำแหน่งต่างๆ น้อยกว่าที่ควร

ผลการสำรวจพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น คิดว่าการทำงานในแวดวงเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะแวดวงนี้เปิดโอกาสให้รังสรรค์สิ่งใหม่ๆ (ร้อยละ 81) มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (ร้อยละ 78) และมีลักษณะการทำงานที่รวดเร็วไม่หยุดนิ่ง (ร้อยละ 70) ส่วนข้อดีอื่นๆ ของการทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีคือสามารถแต่งกายสบายๆ ได้ (ร้อยละ 69) และมีระบบอาวุโสน้อยกว่า (ร้อยละ 61) เมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42) ที่รับตำแหน่งอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คิดว่าอคติทางเพศนั้นมีมากกว่าที่คิด โดยสัดส่วนของผู้ที่คิดเช่นนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ กล่าวคือร้อยละ 52 ของผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูง และร้อยละ 57 ของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหาร ระบุว่าเคยมีประสบการณ์ด้านอคติทางเพศในที่ทำงาน นอกจากนี้เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ (ร้อยละ 48) รู้สึกว่าในฐานะผู้หญิงที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง พวกเขาได้รับการยอมรับน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน

นางกิลเลี่ยน แทนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Booking.com กล่าวว่า “แม้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้หญิงที่ทำงานเป็นนักพัฒนาระบบหรือมีบทบาทด้านวิศวกรรมนั้นมีจำนวนอยู่น้อยมาก แต่เราก็ยังตระหนักว่ายังมีความแตกต่างระหว่างชายหญิงอย่างมีนัยสำคัญในสายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมายาคติหรือความคิดที่มองว่าไม่มีโอกาสดีๆในการทำงานสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในวงการเทคโนโลยี แต่ไม่ได้มีความรู้ด้านการเข้ารหัสหรือวิศวกรรมศาสตร์ บริษัทด้านเทคโนโลยีต้องการผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในด้านดังกล่าวก็จริง แต่ก็ต้องการผู้หญิงมาทำงานในตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น ด้านการตลาดและการเงินด้วยเช่นกัน การที่มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นในตำแหน่งอื่นๆ นอกเหนือจากตำแหน่งด้านเทคโนโลยีก็สามารถช่วยชักจูงและกระตุ้นให้ผู้หญิงสนใจเข้ามาทำงานสายเทคโนโลยีได้ด้วยเช่นกัน เพราะความหลากหลายได้ขยายไปไกลเกินกว่าการจำกัดอยู่แค่ภายในแผนกใดแผนกหนึ่งแล้ว”

การมีผู้หญิงเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนคือกุญแจสำคัญในการดึงดูดให้ผู้หญิงมาทำงานในแวดวงเทคโนโลยีมากขึ้น

การขาดแคลนแบบอย่างหรือผู้นำที่เป็นผู้หญิงนับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ขวางกั้นผู้หญิงในการทำงานในแวดวงนี้ เห็นได้จากที่มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 90 ที่คิดว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา ในขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงในตำแหน่งอื่นๆ ในสัดส่วนเดียวกันเห็นว่าการมีผู้บริหารหญิงจำนวนมากขึ้น สามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามุ่งสู่เส้นทางการทำงานสายเทคโนโลยีได้ นอกจากนี้ผู้หญิงที่ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 34) คิดว่าโปรแกรมให้คำปรึกษาจะช่วยส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตในสายงานเทคโนโลยีได้ อย่างไรก็ตามพบว่าเพียงร้อยละ 20 ของผู้หญิงกลุ่มนี้เท่านั้นที่ระบุว่าทางบริษัทนายจ้างของพวกเขามีโปรแกรมดังกล่าว

นางกิลเลี่ยน แทนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Booking.com กล่าวว่า “การกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเริ่มจากระดับผู้บริหาร โดยเราต้องกระตุ้นให้มีแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้หญิงในทุกสาขาอาชีพของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เราทราบดีว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มองเห็นสิทธิประโยชน์ที่น่าดึงดูดใจที่จะได้รับจากการทำงานด้านเทคโนโลยี และเราจะต้องร่วมแรงร่วมใจในการสนับสนุนให้ผู้หญิงในตำแหน่งงานอื่นๆ ก้าวเข้าสู่แวดวงเทคโนโลยี รวมถึงดึงศักยภาพสูงสุดของกลุ่มคนดังกล่าวให้ฉายออกมา”

ความอคติทางเพศคืออุปสรรคหลักที่ขวางกั้นไม่ให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในธุรกิจเทคโนโลยี

ผลการสำรวจพบว่าอคติทางเพศนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในขั้นตอนการเฟ้นหาบุคลากร โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 68) เชื่อว่าสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ นั้นไม่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมกับผู้หญิง และตำแหน่งใหม่ๆในแวดวงเทคโนโลยีนั้นสื่อสารถึงผู้ชายมากกว่า (ร้อยละ 75)

ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่ง (ร้อยละ 46) รู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและผู้ชายที่แตกต่างกันในที่ทำงาน โดยสัดส่วนของผู้ที่คิดเช่นนี้มีเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 59 ในกลุ่มผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูง และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58 ในกลุ่มที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร ความเชื่อมโยงระหว่างระดับอาวุโสและอคติทางเพศนั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้หญิงมุ่งหวังความก้าวหน้าทางอาชีพ ซึ่งเห็นได้จากมีผู้บริหารหญิงระดับสูงถึงร้อยละ 57 กล่าวว่าพวกเขาถูกมองข้าม และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่เอื้อให้กับผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ชายมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงที่มีตำแหน่งระดับปฏิบัติการประสบกับปัญหานี้เพียงร้อยละ 37

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบอีกว่าอคติทางเพศส่งผลต่อความมั่นใจของผู้หญิงในที่ทำงาน โดยมีผู้หญิง 1 ใน 3 ที่ยอมรับว่าไม่กล้าขอขึ้นเงินเดือน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 ใน 4 รู้สึกไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นต่อหน้าที่ประชุม และกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36) ยอมรับว่ารู้สึกว่าความเห็นของตนเองไม่ได้รับความสำคัญ

การปรับสมดุลให้มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีกว่าเดิม

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าการสร้างความรับรู้เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้เป็นโอกาสที่ธุรกิจต่างๆ จะสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน และสามารถทำให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจได้ จากการสนับสนุนความหลากหลายและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าการว่าจ้างผู้หญิงเข้าทำงานจะช่วยเพิ่มผลประกอบการได้ (ร้อยละ 57) และยังช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยรวมในการทำงานได้ (ร้อยละ 68) แบบสำรวจยังเผยอีกด้วยว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ และการได้ทำงานกับผู้คนที่ช่วยกระตุ้นให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอยากมีการงานที่ก้าวหน้าในแวดวงเทคโนโลยี

ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามแทบทุกคน (ร้อยละ 92) เห็นด้วยว่าการที่ได้ทราบว่าบริษัทนายจ้างให้ความสำคัญกับผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน กระตุ้นให้พวกเขาต้องการเติบโตในหน้าที่การงานมากขึ้น แต่มีเพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่คิดว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ขององค์กร นอกจากนี้เพียงรัอยละ 31 ของผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่คิดว่าเจ้านายของตนเองไม่แบ่งแยกลูกน้องตามเพศ และมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่มีเป้าหมายในหน้าที่การงานชัดเจนว่าจะเติบโตไปในแนวทางใด

“การจะปรับสมดุลให้มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นนั้น บริษัทด้านเทคโนโลยีจะต้องตระหนักถึงมุมมองในด้านลบของสังคมการทำงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ กำหนดนโยบายฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเท่าเทียมทางเพศ และเสนอสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้ผู้หญิงสนใจมาทำงานหรือยังคงต้องการทำงานในองค์กร ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงมีความคิดที่จะริเริ่มการฝึกอบรมด้านอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวภายในองค์กรของเรา และได้เริ่มวางขั้นตอนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเราจะสามารถดึงศักยภาพของผู้หญิงออกมาได้จนถึงขีดสุด” นางกิลเลี่ยน แทนส์ กล่าว

นางกิลเลี่ยน แทนส์ ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “วัฒนธรรมของ Booking.com ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และเราก็มุ่งมั่นที่จะทำให้บริษัทของเราเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก นอกจากนี้เรายังสนับสนุนให้มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นนอกเหนือจากแค่ภายในองค์กรของเราเองด้วย ในปีนี้เราได้เปิดตัวรางวัล Booking.com Technology Playmaker Awards เพื่อเชิดชูผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในแวดวงเทคโนโลยี อีกทั้งยังจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนนักศึกษาหญิงที่มีความรู้ความสามารถและอยากจะทำงานในอุตสาหกรรมนี้ เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจต่างๆ จำเป็นจะต้องมีพันธกิจในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้แน่ใจว่าทักษะและความสามารถของผู้หญิงจะได้รับการยอมรับและบ่มเพาะเช่นเดียวกันกับของผู้ชาย”

Booking.com จัดทำแบบสำรวจนี้โดยเก็บข้อมูลจากผู้หญิง 761 คนใน 8 ประเทศ โดยต้องเป็นผู้หญิงที่ทำงานเต็มเวลาในบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่ไม่ได้ทำงานในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรง ข้อมูลนี้ได้รวบรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ. 2559